เคล็ดลับสร้างสุขในยุคทุนนิยม
เพราะกายกับใจเป็นสิ่งที่ช่วยส่งเสริมกันและกัน ดังที่ใครๆ มักพูดว่า การจะมีสุขภาพร่างกายแข็งแรงได้นั้น ส่วนหนึ่งมาจากการมีจิตใจที่เป็นสุขตัวเราเอง สุขมากน้อยแค่ไหนก็คงรู้ดีอยู่แก่ใจ ทว่าคนในสังคมมีความสุขเหมือนกับเราหรือไม่? ทางแอลจี อิเลคทรอนิคส์ (ประเทศไทย) ร่วมกับสวนดุสิตโพล ทำการสำรวจความสุข หรือไลฟ์ กู๊ด โพล โดยสอบถามกลุ่มตัวอย่างทั้งชายและหญิง ไปเมื่อช่วงตุลาคม-พฤศจิกายน พ.ศ.2555 กลุ่มตัวมีอายุ 20-45 ปี จำนวน 1,037 ราย และอาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ
ผลสำรวจพบว่า ความสุขในภาพรวมของคนกรุงเทพฯ มีค่าเฉลี่ยที่ 3.37 โดยคนที่คิดว่า ตนเองมีความสุขมากถึงมากที่สุดมีเพียงร้อยละ 7 คนที่คิดว่าตนเองสุขแบบปานกลาง มีร้อยละ 54 และอีกร้อยละ 39 ระบุว่า ตนเองมีความสุขน้อยถึงน้อยที่สุด
หากจำแนกตามอายุ ผลโพลแสดงให้เห็นว่า กลุ่มคนที่มีความสุขน้อยที่สุด มีอายุ 20-25 ปี ซึ่งผลลัพธ์ข้อนี้ 'นายแพทย์กัมปนาท ตันสิถบุตรกุล' จิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ครอบครัว วิเคราะห์เหตุที่คนในช่วงวัยดังกล่าวสุขน้อยสุด เป็นเพราะยังอยู่ในวัยสนุกสนาน มีประสบการณ์ชีวิตค่อนข้างน้อย เมื่อไม่ได้อะไรตามต้องการก็จะรู้สึกไม่มีความสุขในชีวิต ยังคิดอะไรแบบเด็กๆ
ในสภาพสังคมปัจจุบัน ความสุขของคนเรามักเกิดจากสิ่งใด? คุณหมอกัมปนาท บอกว่า มักเกิดจาก "ความคิด" ที่เชื่อว่า คนเราควรสมหวังตามค่านิยมที่สังคมกำหนด แต่ในความเป็นจริง วิธีคิดเช่นนี้ ส่งผลให้ต้องดิ้นรนและเหนื่อยมาก
อยากอยู่อย่างเป็นสุขท่ามกลางสังคมทุนนิยม คุณหมอกัมปนาท แนะต้องมีสมดุลในชีวิต อย่าทำตามกระแสทุนนิยมไปเสียหมด ที่สำคัญต้องมั่นใจและภาคภูมิใจในตัวเอง อย่าเอาตนเองไปผูกกับวัตถุ เพียงเพราะคิดว่า วัตถุสิ่งของทำให้เรามีคุณค่าขึ้นมา นอกจากนี้ การที่ตนเองไม่ได้เป็นคนทันสมัยไปทุกเรื่อง หากผู้นั้นไม่ได้มองตัวเองว่าแย่ เขาก็จะอยู่ในสังคมนี้ได้อย่างเป็นสุข
ส่วนเรื่องการใช้เทคโนโลยี คุณหมอกัมปนาท แนะต้องไม่ลืมว่า เทคโนโลยีถูกสร้างขึ้นมาเพื่อให้ใช้ประโยชน์จากประสิทธิภาพ ไม่ได้สร้างขึ้นมาให้ใช้เป็นเครื่องประดับ
เพียงแค่คิดให้เป็น จิตใจก็สุขได้
* * * * * *
ที่มา : thaihealthโดย : Sarapantip สาระพันทิป
ลิ้งค์ที่น่าสนใจ